คุณกำลังมองหาอะไร?

ข้

ข้อกำหนดด้านสุขาภิบาลอาหาร สำหรับมินิมาร์ท

กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ

03.12.2563
4
0
แชร์
03
ธันวาคม
2563
คำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุข
ฉบับที่ 2/ 2548
เรื่อง ข้อกำหนดด้านสุขาภิบาลอาหารสำหรับสถานที่สะสมอาหาร ประเภทร้านมินิมาร์ท

               ปัจจุบันคนไทยได้ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตจากภาคเกษตร ไปเป็นแบบเมืองหรือกึ่งเมืองกอปรกับได้รับวัฒนธรรมตะวันตกมากขึ้น ทำให้มีร้านค้าประเภทสะดวกซื้อ ในลักษณะมินิมาร์ท (Minimart) มีการจำหน่ายสินค้าหลากหลายตั้งแต่ของใช้ต่างๆ ไปจนถึงสินค้าประเภทอาหารทั้งอาหารพร้อมบริโภคและเครื่องดื่ม หากมิได้ควบคุมดูแลในด้านสุขลักษณะที่ดี อาจเป็นแหล่งแพร่กระจายโรคได้ ซึ่งกิจการดังกล่าวนี้ถูกควบคุมในลักษณะสถานที่สะสมอาหาร ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 
               เพื่อประโยชน์ในการควบคุมหรือกำกับดูแลสถานที่สะสมอาหาร ประเภทร้านมินิมาร์ท ราชการส่วนท้องถิ่นอาจพิจารณาอนุญาตและออกข้อกำหนดของท้องถิ่น กำหนดหลักเกณฑ์ และมาตรฐานด้านสุขลักษณะ การประกอบกิจการให้ผู้ดำเนินกิจการต้องปฏิบัติตามมาตรา 40 (1) - (7) แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 10 (3)และ(4)แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 คณะกรรมการสาธารณสุข จึงออกคำแนะนำไว้ดังนี้

1. หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดและการดูแลรักษาสถานที่ใช้ทำ ประกอบหรือปรุงอาหารหรือที่ใช้สะสมอาหาร 
    - อาคารต้องมีความมั่นคง แข็งแรง พื้น ผนัง เพดาน มีสภาพดี สะอาด
    - มีชั้นวางสินค้า ทำด้วยวัสดุที่ทำความสะอาดง่าย มีสภาพแข็งแรง ชั้นล่างสุด มีความสูงจากพื้นอย่างน้อย 15 ซม. มีลักษณะโปร่ง เพื่อให้สามารถทำความสะอาดใต้ชั้นวางสินค้าได้ ยกเว้นกรณีบริเวณที่วางสินค้าที่มีน้ำหนักมาก อาจใช้ชั้นที่มีลักษณะทึบ
    - จัดให้มีแสงสว่างที่เพียงพอต่อการประกอบกิจการ มีระบบการระบาย อากาศที่เหมาะสม ไม่อับชื้น
    - หากมีการเตรียมอาหาร สถานที่เตรียมอาหารต้องสะอาด มีแสงสว่างเพียงพอ มีการระบายอากาศที่เหมาะสม ที่เตรียมทำอาหารต้องสูงจากพื้นอย่างน้อย 60 ซม. สูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 60 ซม. และมีการระบายน้ำได้ดี
    - มีการป้องกัน และควบคุมสัตว์และแมลงนำโรค
 
2. หลักเกณฑ์เกี่ยวกับสุขลักษณะส่วนบุคคลของผู้จำหน่ายอาหาร ผู้ปรุงอาหารและผู้ให้บริการ 
    - ผู้สัมผัสอาหารต้องมีสุขภาพแข็งแรง โดยต้องมีใบรับรองแพทย์ว่าไม่เป็นโรคติดต่อหรือโรคที่สังคมรังเกียจ หรือไม่เป็นพาหะนำโรคติต่อ อัน ได้แก่ อหิวาตกโรค ไข้รากสาดน้อย โรคบิด ไข้สุกใส ไข้หัด โรคคางทูม วัณโรคในระยะอันตราย โรคเรื้อนในระยะติดต่อหรือในระยะที่ปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม โรคผิวหนังที่น่ารังเกียจต่อสังคม โรคไวรัสตับอักเสบชนิดเอ โรคไข้หวัดใหญ่ที่ติดต่อมาจากสัตว์และโรคติต่อที่ต้องแจ้งความตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ และมีสุขวิทยาส่วนบุคคลที่ดี
   -  ขณะเตรียมปรุงอาหารและเครื่องดื่มต้องแต่งกายสะอาด สวมเสื้อมีแขนใส่ผ้ากันเปื้อน และสวมหมวกหรือตาข่ายคลุมผม
   -  เจ้าของหรือผู้ดูแลหรือผู้ประกอบการและผู้สัมผัสอาหารต้องผ่านการฝึกอบรมด้านสุขาภิบาลอาหาร

3. หลักเกณฑ์เกี่ยวกับสุขลักษณะของอาหาร กรรมวิธีการจำหน่าย ทำ ประกอบ ปรุงเก็บรักษาหรือสะสมอาหาร
    - จัดวางสินค้าให้เป็นสัดส่วนแยกตามประเภทสินค้า โดยเฉพาะสินค้าที่เป็นสารเคมี เช่น น้ำยาทำความสะอาดครัวเรือน สารเคมีกำจัดแมลงสำหรับใช้ในครัวเรือน ต้องแยกเก็บเป็นสัดส่วนเฉพาะห้ามปะปนกับสินค้าประเภทอาหาร เพื่อป้องกันการปนเปื้อนกับอาหาร
    - ไม่วางผลิตภัณฑ์อาหารสัมผัสกับพื้น สินค้าประเภทอาหารที่บรรจุในภาชนะไม่สนิท หรืออาหารที่มีการปรุงประกอบ ต้องอยู่สูงจากพื้นอย่างน้อย 60 ซม. อาหารและเครื่องดื่มที่พร้อมบริโภคต้องบรรจุในภาชนะที่สะอาดมีฝาปิด
    - เก็บรักษาอาหารแห้งและอาหารในภาชนะปิดสนิท ที่อุณหภูมิห้องส่วนสินค้าที่ต้องควบคุมอุณหภูมิ ต้องเก็บในตู้เย็นโดยจัดวางสินค้าอย่างเป็นระเบียบ เป็นสัดส่วนไม่แน่นจนเกินไป และมีอุณหภูมิที่เหมาะสม เช่น สินค้าประเภทนม ผลิตภัณฑ์นม และเครื่องดื่มที่ผ่านการฆ่าเชื้อด้วยระบบพาสเจอร์ไรส์ต้องอยู่ในอุณหภูมิต่ำกว่า 5 องศาเซลเซียส ไอศกรีมและอาหารประเภทแช่แข็งต้องเก็บที่อุณหภูมิต่ำกว่า ลบ 18 องศาเซลเซียส
    - มีอุปกรณ์ที่มีด้ามยาวสำหรับตักน้ำแข็ง และภาชนะที่ใช้สำหรับขนถ่าย น้ำแข็ง ต้องสะอาด และจัดเก็บอุปกรณ์อย่าง ถูกสุขลักษณะ
    - สินค้าประเภทอาหารที่วางจำหน่ายต้องจัดให้มีระบบหมุนเวียนตามลำดับอายุผลิตภัณฑ์
    - ไม่วางจำหน่ายสินค้าที่บรรจุในภาชนะที่ชำรุด เสียหายหมดอายุ หรือที่มีลักษณะผิดปกติ
    - แยกสินค้าที่หมดอายุหรือชำรุดหรือรอการส่งคืนในบริเวณเฉพาะและแยกส่วนจากสินค้าปกติโดยมีเป้าหรือเครื่องหมายบอกชัดเจน
    - ดูแลรักษาบริเวณที่วางสินค้าให้สะอาดและมีสภาพดี รวมทั้งบริเวณที่เตรียมอาหารต้องทำความสะอาดทุกครั้งก่อนและหลังใช้งาน

4. หลักเกณฑ์เกี่ยวกับสุขลักษณะของภาชนะอุปกรณ์ น้ำใช้และของใช้อื่นๆ
    - มีน้ำใช้ที่สะอาด สำหรับล้างอาหารและอุปกรณ์
    - ในกรณีที่ใช้เครื่องปรับอากาศต้องดูแลบำรุงรักษาให้อยู่ในสภาพดีสะอาด ไม่มีหยดน้ำหรือสิ่งสกปรกตกลงมาปนเปื้อนอาหาร
    - วัสดุ ภาชนะอุปกรณ์ที่ใช้เตรียมและจำหน่ายอาหาร ต้องเป็นวัสดุที่ปลอดภัยมีสภาพดี สะอาด ล้างทำความสะอาดได้ง่าย และมีการล้างและเก็บอย่างถูกสุขลักษณะ
    - โครงสร้างภายในตู้เย็นหรือตู้แช่ต้องทำด้วยวัสดุที่มีผิวเรียบ มีสภาพดี สะอาด สามารถควบคุมอุณหภูมิให้คงที่กำหนดได้ และตู้แช่แข็งต้องไม่มีน้ำแข็งเกาะหนาเกิน 1 นิ้ว ประตูและขอบยาง ตู้เย็น/ ตู้แช่ /ห้องเย็น ต้องมีสภาพดี สะอาด
    - มีที่รองรับมูลฝอยที่สะอาด ถูกหลักสุขาภิบาล
    - มีเครื่องดับเพลิงที่ใช้การได้ดี ตั้งอยู่ในตำแหน่งที่สามารถหยิบใช้ได้สะดวกรวดเร็วและพนักงานสามารถใช้ได้อย่างถูกต้อง
    - ในกรณี ที่จัดให้มีห้องส้วม ต้องจัดให้มีอ่างล้างมือที่ใช้การได้ดี และมีสบู่สำหรับล้างมือด้วย ทั้งนี้ ประตูห้องส้วมต้องไม่เปิด โดยตรงสู่บริเวณที่เตรียมอาหาร
    - มีท่อหรือรางระบายน้ำทิ้ง ระบายไปสู่ที่บำบัดก่อนปล่อยลงสู่ท่อน้ำทิ้ง สาธารณะหรือระบบบำบัดน้ำเสียรวม ในกรณีที่มีการปรุง ประกอบอาหารที่มีไขมันหรือน้ำมันต้องมีบ่อดักไขมันที่ใช้การได้ดี และมีการกำจัดไขมันเป็นประจำกรณีที่ราชการส่วนท้องถิ่นใดออกข้อกำหนดของท้องถิ่นว่าด้วยหลักเกณฑ์ด้านสุขาภิบาลอาหารสำหรับร้านมินิมาร์ท ควรจัดให้มีการประชาสัมพันธ์ และประชุมชี้แจงข้อกำหนดของท้องถิ่นดังกล่าวเพื่อให้ผู้ประกอบกิจการได้ทราบโดยทั่วกัน ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการบังคับใช้ต่อไป
 
ให้ไว้ ณ วันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2548

กรมอนามัย
เรามีสาระสุขภาพดีๆ
ส่งตรงถึงคุณ
ทุกวัน